เปิดตำนานขนมไทย ตามรอยพระราชนิพนธ์ที่อัมพวา

เปิดตำนานขนมไทย ตามรอยพระราชนิพนธ์ที่อัมพวา

“…ทองหยอดทอดสนิท ทองม้วนมิดคิดความหลัง
สองปีสองปิดบัง แต่ลำพังสองต่อสอง
๏ งามจริงจ่ามงกุฎใส่ชื่อดุจมงกุฎทอง
เรียมร่ำคำนึงปอง สะอิ้งน้องนั้นเคยยลม
๏ บัวลอยเล่ห์บัวงาม คิดบัวกามแก้วกับตน
ปลั่งเปล่งเคร่งยุคล สถนนุชดุจประทุม
๏ ช่อม่วงเหมาะมีรส หอมปรากฏกลโกสุม
คิดสีสไลคลุม หุ้มห่อม่วงดวงพุดตาน
๏ ฝอยทองเป็นยองใย เหมือนเส้นไหมไข่ของหวาน
คิดความยามเยาวมาลย์ เย็บชุนใช้ไหมทองจีน ๚”

พระราชนิพนธ์กาพย์เห่ชมเครื่องคาวหวานของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ซึ่งคัดมาเฉพาะบทเห่ชมเครื่องหวานข้างต้น แสดงถึงความประณีตในการกินอยู่ของชาวไทยในอดีต ที่ให้ความสำคัญต่อการค้นคิดประดิษฐ์อาหารคาวหวานนานาชนิด โดยเฉพาะขนมไทยที่ขึ้นชื่อเป็นเอกลักษณ์ยากจะหาชาติใดเสมอเหมือน
แม้ปัจจุบัน ขนมไทยจะลดความสำคัญลงไปจากขนมหวานที่มีต้นตำรับจากในวัง จนกลายเป็นที่นิยมนำมาทำรับประทานแพร่หลายในหมู่ราษฎรทั่วไป แต่ทุกวันนี้คนจะสั่งขนมไทยมากๆ ก็ต่อเมื่อใช้เลี้ยงในงานพิธีต่างๆ เด็กรุ่นใหม่หลายคนไม่ทราบความเป็นมาและไม่รู้จักขนมไทยโบราณบางชนิด ซึ่งหลงเหลือเพียงแต่ชื่อและนับวันจะหาชิมได้ยากเต็มที แต่ทว่ายังมีชุมชนที่ยังคงอนุรักษ์การทำขนมไทยแบบดั้งเดิมเอาไว้ อยู่ไม่ไกลจากกรุงเทพฯ และมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์เกี่ยวข้องกับตำนานขนมไทยในบทพระราชนิพนธ์

ขนมหม้อดิน

ขนมไทยในอดีต
ในยุครุ่งเรืองของขนมไทยนั้น นอกจากขนมง่ายๆ ที่ทำรับประทานกันเองในครัวเรือนแล้ว ร้านขนมไทยคืออีกทางเลือกหนึ่งซึ่งเป็นที่นิยมแพร่หลายแก่ผู้ที่ไม่มีเวลา แต่พิสมัยในรสชาติหวานอร่อยของขนมไทยให้ได้ซื้อหากลับไปรับประทาน
ในสมัยก่อนร้านค้ายังไม่มีจำนวนมากเช่นปัจจุบัน จึงก่อเกิดกิจการการขายขนมโดยรถเข็นเข้าไปยังตรอก ซอก ซอย หมู่บ้านต่างๆ โดยขนมรถเข็นจะขายในช่วงหัวค่ำจนถึงกลางดึก ขนมไทยส่วนใหญ่ที่อยู่ในรถเข็นได้แก่ ขนมนึ่ง เช่น ขนมชั้น ขนมถ้วย ขนมกล้วย ขนมตาล สังขยาฟักทอง และขนมเครื่องไข่ เช่น ทองหยอด ฝอยทอง ทองหยิบ เม็ดขนุน เป็นต้น
ขนมไทยอีกประเภทหนึ่งที่เป็นที่นิยมคือ “ขนมหม้อดิน” หม้อดินเป็นภาชนะประกอบอาหารที่คนไทยในสมัยโบราณคุ้นเคย เพราะสามารถเก็บความร้อนได้นานและทำให้อาหารหรือขนมมีกลิ่นหอมเฉพาะ ขนมหม้อดินโดยส่วนใหญ่เป็นขนมน้ำ เช่น ขนมแกงบวดฟักทอง เผือกบวด มันบวด และประเภทเปียก เช่น ข้าวเหนียวเปียกถั่วดำ ข้าวเหนียวเปียกสาคู หรือประเภทต้ม เช่น บัวลอย ครองแครง ปากริมไข่เต่า หรือประเภทต้มน้ำตาล เช่น ถั่วเขียวต้มน้ำตาล มันต้มขิง ในอดีตจะเห็นแม่ค้าหาบเร่หรือพายเรือนำขนมหม้อดินนี้มาขายกันมาก
“ขนมโหล” เป็นขนมไทยอีกชนิดหนึ่งที่มีวิธีการผลิตไม่ยุ่งยากซับซ้อน เช่น ทอด กวน อบ ส่วนวัตถุดิบจะหาได้จากท้องถิ่น และนำมาจำหน่ายใส่โหลแก้ววางเรียงรายในร้านค้าต่างๆ เพื่อดึงดูดลูกค้า เช่น อาลัว ถั่วทอด กล้วยฉาบ ขนมหน้านวล กล้วยกวน มะพร้าวแก้ว ฯลฯ
แต่หากจะพูดถึงขนมไทยยอดนิยม โดยเฉพาะสำหรับเด็กๆ คงจะขาดขนมชนิดนี้ไปไม่ได้ “ขนมน้ำแข็งไส” จุดเริ่มต้นเกิดจากน้ำแข็งเข้ามาเมืองไทยครั้งแรกในสมัยรัชกาลที่ 4 และต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 5 จึงได้มีโรงน้ำแข็งเกิดขึ้นแห่งแรกในประเทศไทย ต่อมาได้มีการดัดแปลงนำน้ำแข็งมาผสมกับขนมหลายชนิดเกิดเป็นขนมน้ำแข็งไส อาทิเช่น ลอดช่อง แตงไทย เผือก ลูกชิด ซ่าหริ่ม ทับทิมกรอบ โดยนิยมโรยดอกมะลิในน้ำกะทิและชิ้นขนุนในน้ำเชื่อม เพื่อให้ความหอมหวาน อร่อยและชื่นใจไปพร้อมๆ กัน

ขนมไทยใส่ขวดโหล

อวลกลิ่นรสหวานละมุนที่อัมพวา
ชุมชนอัมพวา ตั้งอยู่ในอำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม ซึ่งมีจุดเด่นทั้งในด้านความอุดมสมบูรณ์ทางทรัพยากรธรรมชาติ และความสำคัญทางประวัติศาสตร์ เนื่องจากเป็นสถานที่ประสูติและประทับของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 ที่สำคัญยังเป็นแหล่งกำเนิดและต้นตำรับของอาหารและขนมไทยหลากหลายชนิด ดังจะเห็นได้จากพระราชนิพนธ์กาพย์เห่ชมเครื่องคาวหวาน ที่ร.2 พระราชทานแก่สมเด็จพระราชินีในพระองค์ ปัจจุบันที่อัมพวาเป็นที่ตั้งของอุทยานรัชกาลที่ 2 อีกด้วย
ขณะเดียวกันประเพณีวัฒนธรรมในอดีต ยังคงสะท้อนผ่านวิถีชีวิตของผู้คนอัมพวาในปัจจุบันอย่างเด่นชัดและปรากฏให้เห็นเป็นเอกลักษณ์ โดยเฉพาะเรือนแถวไม้ริมน้ำยังคงอยู่ควบคู่กับวิถีชีวิตประจำวันของชุมชนอัมพวา ซึ่งได้รับการอนุรักษ์ร่วมกันระหว่างชุมชนและมูลนิธิชัยพัฒนา ตลอดจนความสัมพันธ์ของวิถีชีวิตชุมชน ที่ดำเนินชีวิตในแบบอย่างการพึ่งพาธรรมชาติ มีการผลิต ใช้ภูมิปัญญาโบราณในการนำทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่ในท้องถิ่น มาสรรสร้างผลิตภัณฑ์หรือสินค้าชุมชน เช่น ขนมไทย
อรุณี ศรีราษฎร์ ชาวอัมพวาแท้ๆ ที่มีอาชีพทำขนมไทยผู้หนึ่งเล่าว่า ขนมไทยในอัมพวามีชื่อเสียงมานานแล้ว เพราะส่วนใหญ่ขนมที่มีหน้าตาสีสันสวยงามจะเป็นขนมที่มาจากวรรณคดี เช่น ขนมรังไร หรือเรไรในอีกชื่อหนึ่งที่รู้จักกันดี แต่ทุกวันนี้หาทานได้ยากแล้ว แต่ที่อัมพวายังมีการสาธิตทำขนมชนิดนี้และขนมไทยโบราณอื่นๆ ให้ชมและได้ชิมที่ตลาดน้ำยามเย็นทุกวันศุกร์ เสาร์และอาทิตย์
“คนส่วนใหญ่ที่มาเที่ยวจะไม่เคยเห็นขนมเหล่านี้เลย นอกจากขนมเรไรก็ยังมีขนมเทียนสลัดงา หรุ่มหรือล่าเตียง ช่อม่วง เกสรลำเจียก อีกหลายอย่างประมาณสิบหกชนิด” ในสมัยก่อน ขนมไทยที่นี่ส่วนใหญ่จะทำเฉพาะงานมงคล เพราะเมื่อก่อนที่อัมพวายังไม่เป็นที่รู้จักเป็นสถานที่ท่องเที่ยว ขนมส่วนใหญ่ที่ทำเป็นขนมสดจึงไม่มีจำหน่าย เพราะเก็บไว้ไม่ได้นาน ตอนที่ยังอรุณียังเป็นเด็กนั้น ชาวบ้านส่วนใหญ่ก็ทำขนมกินเองในครัวเรือนบ้าง จะไม่ค่อยซื้อ แต่ปัจจุบันเป็นภาวะที่รีบเร่ง ผู้คนไม่ค่อยมีเวลา ไม่เหมือนสมัยก่อนที่แม่บ้านจะทำขนมให้ลูกหลานไว้กินกัน
“อย่างขนมรังไรต้องเตรียมแป้งไปอบก่อน ขนมไทยอย่างหนึ่งใช้แป้งตั้งสามอย่าง แล้วก็ต้องขูดมะพร้าวคั้นกะทิ มีงาต้องคั่วไว้ เป็นอะไรที่ยุ่งมาก” อรุณีกล่าว แต่ในความยุ่งยากนั้น ขนมไทยที่ทำเองก็มีรสชาติอร่อยลิ้นกว่าที่ซื้อที่ทำสำเร็จมากิน เพราะใช้วัตถุดิบสดใหม่ ทั้งแป้ง กะทิ และน้ำตาลโดยเฉพาะน้ำตาลมะพร้าวที่มีชื่อเสียงของอัมพวา
“ขนมหม้อแกง สังขยาที่อัมพวาอร่อยมาก เพราะเราเน้นใช้น้ำตาลมะพร้าว และน้ำตาลมะพร้าวที่นี่ส่วนใหญ่จะขึ้นเอง ไม่ผสมน้ำตาลทราย”
แม่บ้านชาวอัมพวายังได้มีการรวมกลุ่มกันขึ้นในนาม “กลุ่มอนุรักษ์ขนมไทยในวรรณคดี” อรุณีเล่าว่าเดิมตนเองก็เคยมีอาชีพเป็นช่างเสริมสวยมาก่อน จนกระทั่งได้รับการถ่ายทอดวิชาการทำขนมไทยจากแม่สามี ซึ่งเป็นแม่ครัวของหวานในสมัยโบราณ ไม่ว่าจะมีงานบุญงานบวชที่ไหนก็ต้องเรียกแม่สามีของเธอไปเป็นแม่งาน
เมื่อถามถึงขนมไทยที่โดดเด่นของอัมพวา อรุณีบอกว่าคือ ขนมจ่ามงกุฎตำรับดั้งเดิมของสมเด็จพระศรีสุริเยนทร ซึ่งแตกต่างจากจ่ามงกุฎตำรับภาคกลาง แต่ที่นี่จะไม่มีส่วนผสมไข่ มีแค่แป้ง กะทิ น้ำตาล แล้วใช้ใบตองแห้งห่อ สามารถเก็บไว้ได้เป็นอาทิตย์
ร้อยโทพัชโรดม อุนสุวรรณ นายกเทศมนตรีตำบลอัมพวา เปิดเผยว่า ชุมชนอัมพวา นับเป็นชุมชนต้นแบบของขนมไทย เป็นพื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติที่มีคุณภาพ สามารถเป็นวัตถุดิบในการผลิตขนมไทยภายในชุมชนได้เป็นอย่างดี ทั้งน้ำตาลมะพร้าวหวานหอมที่เป็นผลผลิตขึ้นชื่อในชุมชน ทำให้ขนมไทยฝีมือชาวอัมพวามีรสชาติแตกต่างเป็นเอกลักษณ์จากขนมไทยของที่อื่น
นอกจากนี้ อัมพวายังมีความเหมาะสมในการเป็นตัวแทนชุมชนในยุคปัจจุบัน ที่มีแบบอย่างการดำเนินชีวิตเรียบง่าย พอเพียง พึ่งพิงธรรมชาติ สามารถเป็นสถานีการศึกษาเรียนรู้ เพื่อให้เกิดตระหนักถึงคุณค่าของการดำรงวิถีการดำเนินชีวิต ดำเนินธุรกิจชุมชน ตามแนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียง
ด้วยเหตุนี้ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) และบริษัท อุตสาหกรรมขนมไทย จำกัด (บริษัทในเครือ สสว.) จึงได้ร่วมกับ เทศบาลตำบลอัมพวา ดำเนิน โครงการ “พิพิธภัณฑ์ขนมไทยอัมพวา” (Amphawa Rural Life Museum) ขึ้น เพื่อให้เป็นพื้นที่สาธารณะในการใช้ประโยชน์ร่วมกันของชุมชน โดยการรวบรวมองค์ความรู้เกี่ยวกับขนมไทยและรวบรวมผลิตภัณฑ์ขนมไทยในชุมชนท้องถิ่น เพื่อการอนุรักษ์สืบสานวัฒนธรรม และนำไปสู่การพัฒนาเพื่อเพิ่มศักยภาพทุนที่มีอยู่ในชุมชน
สาธิตการทำขนมไทยในพิพิธภัณฑ์

พิพิธภัณฑ์ขนมไทย…ตำนานความอร่อย
พิพิธภัณฑ์ขนมไทย” เป็นพิพิธภัณฑ์เกี่ยวกับขนมไทยที่มีชีวิต (Life Museum) แห่งแรกของประเทศไทย ดังนั้นความโดดเด่นและความน่าสนใจของพิพิธภัณฑ์มีชีวิตแห่งนี้ คือ การบอกเล่าเรื่องราวต่างๆ ในอดีตผ่านสิ่งมีชีวิตในปัจจุบัน องค์ประกอบต่างๆ ของพิพิธภัณฑ์จะมีชีวิตชีวา มีความเคลื่อนไหว เป็นส่วนหนึ่งของความเป็นอยู่ในวิถีชีวิต กิจวัตรประจำวัน การประกอบอาชีพของคนในชุมชน
ภายในพิพิธภัณฑ์นอกจากจะประกอบด้วยองค์ความรู้เกี่ยวข้องกับขนมไทยแล้ว ผู้ศึกษาเข้าชมพิพิธภัณฑ์ยังสามารถเรียนรู้ด้วยการจับต้อง ทดลอง ผ่านรูปแบบของกิจกรรมต่างๆ ที่ทางพิพิธภัณฑ์จัดขึ้น ทำให้ผู้พบเห็นสามารถเรียนรู้วิถีชีวิตและวัฒนธรรมเกี่ยวกับ ผลิตภัณฑ์พื้นบ้าน อาหารหรือขนมไทยได้อย่างลึกซึ้ง สามารถก่อให้เกิดความเข้าใจ ตระหนักถึงคุณค่าของวัฒนธรรมในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของชีวิต สังคม ที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์ไว้
พีรวงศ์ จาตุรงคกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท อุตสาหกรรมขนมไทย จำกัด กล่าวว่า บริษัท อุตสาหกรรมขนมไทย จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) จัดตั้งขึ้นเพื่อเป็นองค์กรหลักในการส่งเสริมการผลิต การพัฒนาและยกระดับขนมไทยทุกประเภท ให้มีคุณภาพและมาตรฐานในระดับสากล รวมทั้งขยายช่องทางการจัดจำหน่ายขนมไทยทั้งในประเทศและต่างประเทศ ดังนั้นความร่วมมือกับ สสว. และเทศบาลตำบลอัมพวา ในการดำเนินโครงการจัดสร้างพิพิธภัณฑ์ขนมไทยและศูนย์พัฒนาองค์ความรู้อัมพวา จึงเป็นส่วนสำคัญในการร่วมอนุรักษ์ สืบสาน เรียนรู้ และพัฒนาอุตสาหกรรมขนมไทยในอนาคต
“สาเหตุที่เราเข้ามาทำโครงการนี้ เพราะวิกฤตขนมไทยที่เริ่มเกิดขึ้นที่เขาวัง เพชรบุรี ที่มีหลากหลายเจ้าทั้งแม่กิมลั้ง แม่กินไล้เต็มไปหมด จนเกิดการขายดีแล้วลอกเลียนแบบกัน ไม่สามารถควบคุมคุณภาพและรักษามาตรฐานเอาไว้ได้ ที่ชลบุรีเองก็เช่นเดียวกัน เดิมขนมจากและข้าวหลามที่เคยเป็นของฝากขึ้นชื่อของที่นั่น กลายเป็นว่าทุกวันนี้คนจอดรถใกล้ที่ไหนก็ซื้อตรงนั้น ไม่มีเจ้าเก่าแก่ดั้งเดิมเป็นที่รู้จักเหมือนในอดีต”
ขณะที่จิตราภรณ์ เตชาชาญ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท อุตสาหกรรมขนมไทย กล่าวว่า เนื่องจากชุมชนอัมพวา มีความเหมาะสมที่จะเป็นสถานที่ศึกษาเรียนรู้ เพื่อให้เกิดความตระหนักถึงคุณค่าของการดำเนินชีวิตและดำเนินธุรกิจชุมชนตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง ประกอบกับชุมชนมีเอกลักษณ์ทั้งในเรื่องความแตกต่าง และหลากหลายของผลิตภัณฑ์ขนมไทย รวมถึงประเพณีวัฒนธรรมในอดีต รูปแบบการอยู่อาศัยโดยเฉพาะเรือนแถวไม้ริมแม่น้ำ ที่ยังคงความเป็นเอกลัษณ์อยู่ควบคู่กับวิถีชีวิตประจำวันของชุมชนอัมพวา ซึ่งได้รับการอนุรักษ์ร่วมกันระหว่างชุมชนและมูลนิธิชัยพัฒนา ซึ่งสามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวให้เข้ามาท่องเที่ยวในพื้นที่ได้
“ชุมชนอัมพวา มีจุดเด่นทั้งในเรื่องความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติ เป็นสถานที่ทรงพระราชสมภพและประทับของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหน้านภาลัย รัชกาลที่ 2 ที่สำคัญยังเป็นแหล่งกำเนิดและต้นตำรับของอาหารและขนมไทยหลากหลายชนิด ซึ่งปัจจุบันมีผู้ประกอบการขนมไทยในชุมชนอัมพวา จำนวนกว่า 60 ราย มีการผลิตและจำหน่ายขนมไทยกว่า 50 ชนิด แต่ที่ผ่านมายังขาดการพัฒนาองค์ความรู้ทั้งในด้านคุณภาพ มาตรฐานสินค้าและผลิตภัณฑ์” ประธานกรรมการบริหาร บริษัท อุตสาหกรรมขนมไทย อธิบาย
ดังนั้นพิพิธภัณฑ์ขนมไทย จึงจะเป็นพิพิธภัณฑ์ขนมไทยที่มีชีวิตแห่งแรกของประเทศไทย ที่มีการจัดตั้งและดำเนินงานตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งนอกจากจะจัดสร้างขึ้นเพื่อเป็นการร่วมเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชฯ เนื่องในวโรกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา แล้ว ยังมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้เป็นพื้นที่สาธารณะในการใช้ประโยชน์ร่วมกันของชุมชน
“โครงการพิพิธภัณฑ์ขนมไทยและศูนย์พัฒนาองค์ความรู้อัมพวาแห่งนี้ จะเป็นก้าวย่างสำคัญของการอนุรักษ์ สืบสาน และพัฒนาอุตสาหกรรมขนมไทย ให้เป็นที่รู้จักและได้รับการยอมรับจากผู้บริโภค สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศเข้ามาในพื้นที่อัมพวา ก่อให้เกิดการสร้างงาน สร้างรายได้ ให้ชุมชน ให้สามารถอยู่ได้อย่างเข้มแข็งและยั่งยืนต่อไป” จิตราภรณ์ กล่าวทิ้งท้าย
พิพิธภัณฑ์ขนมไทยที่มีการจัดตั้งและดำเนินงานตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง จะเป็นพิพิธภัณฑ์ให้ความรู้และพื้นที่สาธารณะในการใช้ประโยชน์ร่วมกันของคนในชุมชน เพื่อการอนุรักษ์สืบสานภูมิปัญญาและเรื่องราวของขนมไทยไว้มิให้สูญหายไปจากความทรงจำของคนไทย
ความเป็นมาของขนมไทย
ที่มาของคำว่าขนม
“ขนม” สันนิษฐานว่ามาจาก “ข้าวหนม” กับ “ข้าวนม” ข้าวหนมนั้นเข้าใจว่าเป็นข้าวผสมกับน้ำอ้อย น้ำตาล โดย คำว่า หนม แปลว่า หวาน เมื่อรวมกันจึงหมายความว่า ข้าวหวาน สมัยสุโขทัย
“ขนมต้ม” ขนมไทยที่มีความเก่าแก่ พบการกล่าวถึงขนมชนิดนี้ในหนังสือไตรภูมิพระร่วง เรียบเรียงเป็นภาษาไทยตั้งแต่ปี พ.ศ.1888 ขนมต้มทำได้ง่ายโดยใช้วัตถุดิบในท้องถิ่น ได้แก่ แป้ง มะพร้าว น้ำตาล
ขนมต้มมี 2 ชนิด คือ ขนมต้มขาวและขนมต้มแดง “ขนมต้มขาว” ลักษณะเป็นแป้งลูกกลมๆ ข้างในไส้ใส่มะพร้าวเคี่ยวน้ำตาล ส่วน ” ขนมต้มแดง”ไม่มีไส้ ทำเป็นแผ่นกลมขนาดเล็ก ต้มให้สุก คลุกน้ำตาล นับเป็นความอร่อยอย่างเรียบง่ายของคนไทยในยุคอดีตที่สืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน
สมัยอยุธยา
คนไทยสมัยโบราณจะได้กินขนมก็ต่อเมื่อมีงานนักขัตฤกษ์ หรืองานบุญสำคัญเท่านั้น ขนมไทยที่ใช้เลี้ยงแขกในงานขุดสระน้ำ เป็นขนมไทยที่กินกับน้ำกะทิ คือ “ขนมสี่ถ้วย” หมายถึง ไข่กบ (เม็ดแมงลัก) นกปล่อย (ลอดช่อง) บัวลอย (ข้าวตอก) และอ้ายตื้อ (ข้าวเหนียว) และได้กลายเป็นประเพณีเลี้ยงขนมชื่อว่า “ประเพณี 4 ถ้วย”นับแต่บัดนั้นเป็นต้นมา
ยุคทองของขนมไทย
ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชถือได้ว่าเป็นยุคทองของการทำขนมไทย เมื่อสตรีชาวโปรตุเกสเชื้อสายญี่ปุ่นนามว่า “มารี กีมาร์” ผู้เป็นภรรยาเจ้าพระยาวิชาเยนทร์ หรือบรรดาศักดิ์ว่า “ท้าวทองกีบม้า” เข้ารับราชการเป็นต้นเครื่องขนม ของหวานในวัง ท่านได้นำไข่ และ น้ำตาลทราย มาเป็นส่วนผสมสำคัญในขนมไทยและท่านได้ดัดแปลงสูตรขนมต่างๆ เช่น ขนมทองหยิบ ทองหยอด ฝอยทอง ขนมหม้อแกง ซึ่งได้รับความนิยมมาจนถึงปัจจุบันนี้
สมัยรัตนโกสินทร์
สมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 ได้ทรงนิพนธ์ “กาพย์เห่ชมเครื่องคาวหวาน” เพื่อชมฝีมือการทำอาหารของสมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี ผู้เป็นมเหสีอันเป็นที่รัก และมีฝีมือในการทำอาหารคาวหวานจนเป็นที่โปรดปราน และเพื่อใช้สำหรับเป็นบทเห่ในระหว่างการเดินทางทางชลมารค กาพย์เห่ชมเครื่องคาวหวานได้บรรยายถึงอาหารคาวทั้ง 15 ชนิด และอาหารหวาน 15 ชนิด


COPYRIGHTS 2019. ALL RIGHTS RESERVED